การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องขณะเวียนหัว

อาการเวียนหัว บ้านหมุน เป็นอาการที่พบบ่อย แต่อาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากันเท่านั้น อาการเวียนหัว บ้านหมุน อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น จากโรคของหูชั้นนอก โรคของหูชั้นกลาง หรือ โรคของทางเดินประสาท และสมอง ดังนั้นเมื่อท่านมีอาการเวียนหัว บ้านหมุน จึงควรมาพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งการสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้การวินิจฉัย สาเหตุของอาการเวียนหัว รวมทั้งการรักษาที่ถูกต้อง

เมื่อมีอาการเวียนหัวขณะเดิน ควรหยุดเดินและนั่งพัก เพราะการฝืนเดินขณะเวียนหัวอาจทำให้ผู้ป่วยล้ม และเกิดอุบัติเหตุได้ เช่นกัน ถ้าอาการเวียนหัวเกิดขณะขับรถหรือขณะทำงาน ควรหยุดรถข้างทางหรือหยุดการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าเวียนมากควรนอนบนพื้นราบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น พื้น ผู้ป่วยควรมองไปยังวัตถุที่อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ถ้าอาการเวียนหัวน้อยลง ค่อย ๆ ลุกขึ้น แต่อาจรู้สึกง่วงหรือเพลียได้ ถ้าง่วงแนะนำให้นอนหลับพักผ่อน หลังตื่นนอนอาการมักจะดีขึ้น
– ไม่ควรว่ายน้ำ, ดำน้ำ, ปีนป่ายที่สูง, เดินบนสะพานไม้แผ่นเดียว หรือเชือกข้ามคูคลอง, ขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ขณะมีอาการเวียนศีรษะเพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
– หลีกเลี่ยงสารคาเฟอีน (ชา น้ำอัดลม กาแฟ) การสูบบุหรี่ ซึ่งจะลดเลือดที่ไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัว
– พยายามอย่ารับประทานอาหาร หรือดื่มมากนัก จะได้มีโอกาสอาเจียนน้อยลง
– พยายามหลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ในระหว่างเกิดอาการ ได้แก่ การหมุนหันศีรษะไว ๆ, การเปลี่ยนท่าทางอิริยาบถอย่างรวดเร็ว, การก้ม เงยคอ หรือหันอย่างเต็มที่
– พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิด อาการเวียนหัว เช่นความเครียด, ความวิตกกังวล, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, สารก่อภูมิแพ้ (ถ้าแพ้), การเดินทางโดยทางเรือ, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
– รับประทานยาที่แพทย์ให้รับประทาน เวลาเวียนหัว